การจัดการเรียนรู้เชิงรุก

 การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning)

         หลักการจัดการเรียนรู้เชิงรุก 📚
🌻ความหมาย (Meaning) => การเรียนรู้เชิงรุก เป็นการจัดการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ ผ่านการอ่าน พูด ฟัง เขียน และลงมือปฏิบัติ ได้ใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์  สังเคราะห์ ประเมินค่า และสะท้อนความคิด ผ่านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่หลากหลาย มากกว่าการเป็นแต่เพียงผู้ฟังหรือรับความรู้แต่เพียงด้านเดียว โดยครูจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้หรือเป็นผู้ชี้แนะ

🌻ปรัชญา ทฤษฎี และแนวคิดของการเรียนรู้เชิงรุก
  1. ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม (Progressivism) ซึ่งมีความเชื่อว่าหากผู้เรียนได้เป็นผู้ริเริ่มคิดและลงมือทำหรือปฏิบัติด้วยตนเองผู้เรียนจะสามารถสร้างความรู้ขึ้นมาได้ในที่สุด
  2. ทฤษฎีสรรคนิยม (Constructivism) ทฤษฎีนี้เชื่อว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการทางความคิด หรือกระบวนการทางสมอง ซึ่งเกิดภายในตัวบุคคล โดยมีผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเองอย่างกระตือรือร้น (Actively construc their knowladge) จากการมีประสบการณ์ที่ได้ปฏิสัมพันธ์กับบุคคลหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากกว่าผู้รับความรู้
  3. แนวคิดการเรียนรู้แบบรวมพลัง (Collaborative learning) อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ คือ การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม โดยต่างคนต่างรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายร่วมกันของสมาชิกภายในกลุ่ม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือผลการเรียนที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและกลุุ่ม
🌻ความสำคัญของการเรียนรู้เชิงรุก
        การเรียนรู้ด้วยวิธีต่างๆ นั้นส่งผลต่อความสามารถในการรับรู้หรือนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ได้ในระดับที่ต่างกัน ซึ่งจากผลวิจัยของ รินฮาร์ทและวินส์ตัน พบว่า การเรียนรู้ผ่านการอ่าน ฟัง ดู หรือสาธิต ผู้เรียนจะจดจำได้เพียง 10-50% แต่การเรียนรู้เชิงรุกนั้น ทำให้ผู้เรียนจดจำได้มากขึ้นถึง 70-90%

ที่มารูป: https://whitefang2241.blogspot.com/2019/02/active-learning.html

🌻ลักษณะสำคัญของการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning)
    1. ความรู้เกิดจากประสบการณ์ การสร้างองค์ความรู้ และการสรุปทบทวนของผู้เรียน
    2. เป็นกาารจัดการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาศักยาภาพทางสมอง เช่น การคิด การแก้ปัญหา การนำความรู้ไปประยุกต์
    3. เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้
    4. เป็นกระบวนการสร้างสถานการณ์ให้ผู้เรียนอ่าน พูด ฟัง คิด
    5. เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการคิดขั้นสูง
    6. เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนบูรณาการข้อมูล ข่าวสาร สารสนเทศ และหลักการสู่การสร้างความคิดรวบยอด
    7. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ มีการสร้างองค์ความรู้ การสร้างปฎิสัมพันธ์ร่วมกัน และร่วมมือกันมากกว่าการแข่งขัน
    8. ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้และจัดระบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง
    9. ผู้เรียนได้เรียนรู้ความรับผิดชอบร่วมกัน การมีวินัยในการทํางาน และการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ
    10. ผู้สอนเป็นผู้อํานวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติด้วยตนเอง
🌻องค์ประกอบการเรียนรู้เชิงรุก
  • ปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ การฟัง พูด อ่าน เขียน และการสะท้อนความคิด หรือโต้ตอบความคิดเห็น
  • กลวิธีการสอน หากให้ยกตัวอย่างของกลวิธีการสอนคงมีมากมายหลายวิธี แต่กลวิธีการสอนเป็นกระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ผ่านเทคนิค วิธีการหรือกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ที่กล่าวมานี้คือ การทำให้ผู้เรียนนั้นสนใจในการเรียนตลอดเวลาด้วยเทคนิคต่างๆ หลายๆคนคงไม่ชอบให้ครูมาสอนแบบอ่านสไลด์ให้ฟังแน่นอน
  • ทรัพยากรในการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จมากขึ้น เช่น การอ่าน การมอบหมายการบ้าน วิทยากรจากภายนอก เป็นต้น
🌻ความแตกต่างของการจัดการเรียนรู้เชิงรุกกับการสอนแบบเดิม
        เทคนิคและแนวทางการจัดการเรียนรู้เชิงรุก 🎄
    การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 แบบ Active learning มีแนวทางการจัดการเรียนรู้ ดังนี้
    1. การจัดการเรียนรู้ควรมห้มีกิจกรรมเชิงปฏิบัติไม่เน้นการสอนแบบบรรยาย และมีกิจกรรมเป็นช่วงๆ ซึ่งกิจกรรมนั้นอาจมีความหลากหลาย 
    2. ผู้สอนควรออกแบบหรือเลือกกิจกรรมที่มีความหลากหลาย และต้องให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมใน 2 ลักษณะ คือ การมีส่วนร่วมในการทำงานหรือลงมือปฏิบัติและการมีส่วนร่วมในการคิด
    3. ผู้เรียนมีอิสระในการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง
    4. ผู้สอนควรแบ่งสัดส่วนเวลาส่วนใหญ่ในการจัดการเรียนรู้
    5. รูปแบบของการทำกิจกรรมที่นิยมนำมาใช้ใน Active learning
      • กิจกรรมรายบุคคล (Individual activities)
      • กิจกรรมแบบจับคู่ (Paired activities)
      • กิจกรรมกลุ่มย่อย (Small group activities)
      • กิจกรรมแบบโครงงาน (Project activities) 
    🌼เทคนิคการจัดการเรียนรู้เชิงรุก
  • กิจกรรมเดี่ยว 
    1. Focus Listing: การจดประเด็นสำคัญ เพื่อตรวจสอบว่า ผู้เรียนสามารถจับประเด็นที่ผู้สอนคาดหวังได้ครบถ้วนหรือไม่
    2. Reading Quiz: การตรวจสอบการอ่าน คือการที่ผู้สอนใช้คำถามโดยเน้นให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดขั้นสูงในการตอบว่าได้เรียนรู้ประเด็นใดบ้างจากการอ่าน
    3. One-minute paper: ทดสอบสั้น 1 นาที คือให้ผู้เรียนตอบคำถามสั้นๆ ลงในกระดาษเปล่า
    4. Response to a demonstration/activity: ตอบสนองต่อการสาธิต หรือกิจกรรมที่เป็นเทคนิคที่ใช้ขณะสาธิตหรือทำกิจกรรม อาจจะจัดเตรียมคำถามที่กระตุ้นให้ผู้เรียนคิดตามเป็นลำดับขั้น
    5. Journal: อนุทิน เป็นเทคนิคที่ให้ผู้เรียนได้ไตร่ตรองความคิด ซึ่งนิยมเขียนท้ายคาบเรียนหรือให้ทำเป็นการบ้าน ทั้งนี้อาจเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เช่น สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ในคาบเรียน เสนอแนะเกี่ยวกับการเรียน ถามคำถามที่สงสัย หรือให้ค้นคว้าเพิ่มเติม ปล.อนุทิน ที่แปลว่า สมุดบันทึกประจำวันนะ ไม่ได้เป็นชื่อของใครทั้งสิ้น🤣
  • กิจกรรมคู่
    1. Write-pair-share: เขียน-จับคู่-แลกเปลี่ยน ช่วยให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นของตนเอง
    2. Think-pair-share: คู่คิด คล้ายๆกับ Write-pair-share แต่ต่างกันที่ผู้เรียนไม่ต้องเขียนลงกระดาษก่อนการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนและกลุ่มใหญ่
    3. Note sharing: แลกเปลี่ยนสมุดบันทึก ช่วยให้ผู้เรียนที่มีปัญหาด้านการจดบันทึก
    4. Question & Answer pair: จับคู่ตอบคำถาม ช่วยให้ผู้เรียนได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เรียน โดยให้ผู้เรียนเขียนคำถาม 1-2 คำถาม จับคู่สลับกันถาม-ตอบ แลกเปลี่ยนร่วมชั้นเรียน
  • กิจกรรมกลุ่ม
    1. Rotating Chair Discussion: เวียนกันอภิปราย ช่วยเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนได้เสนอความคิดอย่างเปิดเผยโดยไม่ถูกแทรกแทรง
    2. Roundtable: โต๊ะกลม ให้แต่ละกลุ่มเขียนคำถามบนกระดาษเปล่ากลุ่มละ 1 แผ่นโดยสมาชิกคนแรกเขียนคำตอบของตนเอง จากนั้นเวียนกระดาษให้คนถัดไป
    3. Number Heads Together: กิจกรรมเลขหัวร่วมกัน แฮร่!! ไม่ใช่นะ กิจกรรมนี้มีชื่อว่า สุมหัวคิด คือให้สมาชิกในกลุ่มทุกคนมีส่วนร่วมในการคิดประเด็นหรือคำตอบของกลุ่ม 
    4. Quiz/Test questions: เรียกกิจกรรมนี้ง่ายๆและพบเจอกันบ่อยเลยก็คือ ออกข้อสอบ เหมาะสำหรับการสอนในช่วงท้ายของบทเรียนหรือก่อนบทเรียน จะช่วยให้ผู้เรียนได้ทบทวนเรื่องที่เรียน โดยใช้คำถามความคิดขั้นสูง ซึ่งจะให้ผู้เรียนช่วยกันจัดหมวดหมู่ของคำถาม
    5. Wait time: การให้เวลา โดยผู้สอนให้เวลาประมาณ 15 วินาทีก่อนตอบคำถาม เพื่อให้ผู้เรียนได้คิด
    6. The fishbowl: อ่างปลา โดยผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกคนเขียนคำถามลงบนกระดาษเกี่ยวกับสิ่งที่ยังสงสัย อยากได้อธิบายเพิ่มเติม
        บทบาทของครูผู้สอนและผู้เรียนในการเรียนรู้เชิงรุก 🍂
  • บทบาทของผู้สอน 🍁
    1. จัดให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เน้นการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงของผู้เรียน
    2. สร้างบรรยากาศของการมีส่วนร่วม
    3. จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้เป็นพลวัต
    4. จัดสภาพการเรียนรู้แบบร่วมมือ
    5. จัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ท้าทาย
    6. วางแผนเวลาในการจัดการเรียนรู้
    7. ครูผู้สอนต้องใจกว้าง ยอมรับในความสามารถมนการแสดงออก
    8. ดำเนินการประเมินประสิทธิภาพของการเรียนและการสอน
  • บทบาทของผู้เรียน 🍀
    1. มีส่วนร่วมกับกิจกรรมการเรียนรู้ มากกว่าการรับฟัง
    2. มีปฏิสัมพันธ์ร่วมมือกับเพื่อนในการสืบค้นหาคำตอบ
    3. สร้างความรู้และทำความเข้าใจผ่านการฟัง พูด คิด อ่าน เขียน และลงมือทำ และสรุปข้อความที่รู้ด้วยตนเอง
    4. เน้นบทบาทผู้เรียนได้ค้นหาคุณค่าและค่านิยมของตนเอง
💜💙💚💛🧡ยินดีด้วยมาถึงจุดที่อยากจะแนะนำมากที่สุดแล้วว💜💙💚💛🧡
เทคโนโลยีที่ส่งเสริมการเรียนรู้เชิงรุก

  • Kahoot
            Kahoot โปรแกรมสุดฮิตสุดปังที่ครูผู้สอนใช้กันเยอะมากๆเลย ที่คนเขียนเคยเห็นนะ ซึ่งโปรแกรมนี้ถูกออกแบบมาให้มีลักษณะของเกม ซึ่งมี 3 รูปแบบให้เลือก ได้แก่ 1. Quiz (การทดสอบแบบมีตัวเลือก) 2.Discussion (การอภิปราย) และ 3.Survey (การสำรวจ) ซึ่งครูผู้สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการจัดกิจกรรมในชั้นเรียนได้ในหลายลักษณะ เช่น การทบทวนความรู้ การทดสอบความรู้ การระดมสมมอง การแข่งขันตอบคำถาม หรือการสรุปความรู้เป็นต้น จะเห็นได้ว่าสามารถประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนได้หลายทางมากๆ ทั้งนี้โปรแกรมนี้ ฟรี ดูไม่ผิดจ้า ฟรี สามารถเล่นได้ทั้ง สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้โปรแกรมนี้ยังมีในแอพพลิเคชั่น สามารถไปโหลดมาได้นะ //เหมือนขายของเลย🤣🤣// คนเขียนยกนิ้วให้โปรแกรมนี้เลยเพราะใช้งานได้หลายอย่างจริงๆ

เว็บไซต์ของ Kahoot: https://kahoot.com/



  • Poll Everywhere
            Poll Everywhere เป็นโปรแกรมออนไลน์ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียน คล้ายๆ kahoot แต่โปรแกรมนี้สามารถผนวกเข้ากับ Powerpoint ได้ จึงทำให้ผู้สอนสามารถนำเสนอเนื้อหาสาระและสอดแทรกกิจกรรมให้ผู้เรียนภายในโปรแกรมเดียว //อั้ยยะ!!! ดูเป็นมือโปรขึ้นมาทันที// จึงมีความง่ายและสะดวกในการใช้งานมากขึ้น เรียกได้ว่า ครบจบที่โปรแกรมเดียวไปเลยย👏👏👏 

เว็บไซต์ของ Poll Everywhere: https://www.polleverywhere.com/



  • Powerpoint
            Powerpoint โปรแกรมสุดฮิตในหมู่ครูผู้สอนและนักเรียน ซึ่งโปรแกรมนี้มักใช้ในการนำเสนอเนื้อหา โปรแกรมนี้ก็ทำได้หลายอย่างไม่แพ้ Poll Everywhere เลยย อีกทั้งยังมี Template ให้ตกแต่งงานนำเสนอให้สวยงามดึงดูดผู้เรียนได้ และยังสามารถสร้างเกมจาก Powerpoint ได้อีกด้วย //เราใช้โปรแกรมนี้บ่อยสุดๆ บอกได้เลยว่าสามารถ Explore ความคิดในการนำเสนอได้เป็นอย่างดี//

🌻🌻🌻🌻🌻 สรุปจากผู้เขียน blog 🌻🌻🌻🌻🌻

        การจัดการเรียนรู้เชิงรุก คือ การจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ และให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมในชั้นเรียน การเรียนรู้เชิงรุกนั้นจะเน้นปฏิบัติมากกว่าการฟังเพียงอย่างเดียว ซึ่งผู้เรียนจะสามารถจดจำได้มากถึง 70-90% ทั้งนี้บทบาทของผู้สอนและผู้เรียนนั้นก็มีดังนี้
  • บทบาทผู้สอน
    • จัดบรรยากาศในการเรียนให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเรียน
    • ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้
    • ครูผู้สอนต้องใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นจากผู้เรียน และยอมรับในการแสดงออกของผู้เรียน
  • บทบาทของผู้เรียน
    • ให้ความร่วมมือกับผู้สอน มากกว่าการรับฟังเพียงอย่างเดียว //การเรียนจะได้ไม่น่าเบื่อ//
    • เน้นให้ผู้เรียนได้ค้นหาคุณค่าและค่านิยมของตนเอง
และอีกอย่างที่ขาดไม่ได้เลยก็คือปัจจัยพื้นฐานหากขาดปัจจัยนี้ไปการเรียนการสอนคงน่าเบื่อน่าดูเลยล่ะ ซึ่งปัจจัยพื้นฐานของการเรียนการสอน มีดังนี้ คือ การฟัง พูด อ่าน เขียน และการสะท้อนความคิด หรือโต้ตอบความคิดเห็น "บางคนอาจจะไม่กล้าแสดงความคิดเห็นภายในชั้นเรียนอาจเนื่องมาจากกลัวว่า ถามแล้วครูอาจตอบไปว่า ทำไมเมื่อกี้ไม่ฟัง หรืออาจจะต่อว่านักเรียนทั้งที่มันเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องเกิดขึ้นภายในห้องเรียน"



แหล่งที่มา
ผศ.ดร.นัทธีรัตน์ พีระพันธุ์, เอกสารประกอบการเรียนวิชาการพัฒนาสมรรถนะครูในยุคดิจิทัล เรื่อง การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เชิงรุก



ความคิดเห็น